บริหารจัดการอาคาร: อันตรายในบ้านและคอนโดที่ไม่ควรมองข้ามบ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ นั่นก็คือที่อยู่อาศัย แต่สำหรับหลายๆ คน บ้านหรือคอนโด อาจเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสถานที่พักพิงทางใจ เป็นครอบครัว สถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ เป็นที่หลบหนีความวุ่นวายและเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด
ดังนั้นการดูแลบ้านให้ดี ให้มีความปลอดภัยจึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอันตรายที่เกิดขึ้นภายในบ้านได้อยู่ดี
หากเราสามารถป้องกัน หรือเตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อป้องกันให้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียน้อยที่สุด หากเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดเราจะได้มีวิธีการรับมือและความหนักของอันตรายอาจจะเบาลงได้ วันนี้เราได้รวบรวม 3 อันตรายที่ไม่ควรมองข้ามที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในบ้าน และในคอนโด มาดังนี้
1. อันตรายจากอุบัติเหตุในบ้านและคอนโด
อุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้แต่ภายในบ้านของเราเอง โดยอุบัติเหตุนั้นอาจเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ หลักๆ คือ
สาเหตุเกี่ยวกับบุคคล ส่วนใหญ่อุบัติเหตุในที่พักอาศัยนั้น เกิดจากความไม่ระมัดระวังของผู้อาศัยเอง เช่น ลื่นล้ม เดินชนโต๊ะ เก้าอี้ กระแทกเสา ฯลฯ ซึ่งสาเหตุนั้นก็มาจาก สภาพร่างกาย เหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานหนัก ความอ่อนเพลียจากการไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ความเจ็บป่วยไม่สบาย ความเครียด ความวิตกกังวลที่อาจทำให้บุคคลเกิดความเหม่อลอย รีบร้อน ประมาท จนอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
สาเหตุเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ได้แก่ การออกแบบบ้าน และการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ที่ไม่เป็นไปตามหลักสุขลักษณะและหลักสุขาภิบาล การจัดบริเวณบ้าน เช่น การปล่อยให้สนามหญ้ารก รั้วบ้าน และทางเดินที่สกปรกเลอะเทอะ และสุดท้ายคือการไม่เก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ จะเห็นได้ว่าอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุภายในบ้านนั้น มีสาเหตุหลักๆ มาจากตัวบุคคลและสภาพแวดล้อม ดังนั้นเราจึงสามารถป้องกันและลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างแน่นอน
2. แนวทางป้องกันเบื้องต้น
ก่อนอื่นเลยเราคงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่อาศัยให้มีความระมัดระวังมากขึ้น ให้มีสติ อยู่ในความไม่ประมาท โอกาสการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากตัวเราเองนั้นก็จะน้อยลง นอกจากนี้หากเรารู้ตัวเองแล้วว่า เป็นคนที่มีลักษณะนิสัยไม่รู้จักระมัดระวังตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือกำลังวางแผนขยายครอบครัวที่มีเด็ก และผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย การเลือกที่อยู่อาศัยที่มีการออกแบบและเทคโนโลยีที่คำนึงถึงความปลอดภัย รวมถึงเลือกผู้ดูแลโครงการที่มีความเชี่ยวชาญและใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย ก็จะสามารถช่วยป้องกัน และช่วยลดอุบัติเหตุได้
3. อันตรายจากอาชญากรรมหรือมิจฉาชีพ (การลักทรัพย์หรือโจรกรรม)
ในปัจจุบันนี้ มีการโจรกรรมให้เห็นอยู่ตามสื่อบ่อยครั้งและภัยจากการโจรกรรมนั้นถือเป็นอีกหนึ่งภัยที่มีความน่ากลัวเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อคนร้ายเข้ามาโจรกรรมอาจไม่เพียงแต่เอาทรัพย์สมบัติอันมีค่าไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของคนในบ้านอีกด้วย นอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณเกิดความกังวลใจ รู้สึกไม่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในบ้านของตนได้ ดังนั้นการป้องกันอันตรายเช่นนี้เองก็ไม่ควรถูกมองข้ามเช่นกัน
4. แนวทางป้องกันเบื้องต้น
ภัยจากอาชญากรรมหรือมิจฉาชีพที่มักเกิดในบ้านหรือที่พักอาศัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการลักทรัพย์หรือโจรกรรม ในหลายกรณีสิ่งเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากอาศัยอยู่ในโครงการที่มีมาตรการการรักษาความปลอดภัยไม่หละหลวม จัดจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยที่เป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือ มีระบบการดูแล คัดเลือกและอบรมพนักงานรักษาความปลอดภัยมาอย่างดี และมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วยในการตรวจตราอย่างแม่นยำ ก็จะทำให้คนร้ายเกรงกลัว ไม่กล้าเข้ามาบุกรุกได้
5. อันตรายจากอัคคีภัย (ไฟไหม้)
“โจรปล้นบ้านสิบครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” เป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากอัคคีภัยเป็นอย่างดี เพราะถึงแม้ว่าโจรจะเข้ามาปล้นบ้านของเรานับสิบครั้ง ก็ไม่สามารถนำเอาบ้านของเราทั้งหลังไปได้ แต่การเกิดอัคคีภัยนั้นอาจทำให้เกิดการเสียหายต่อบ้านทั้งหลัง หรือแม้กระทั่งลุกลามไปยังบ้านเรือนข้างเคียงได้ รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคล สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
โดยอุบัติภัยที่เกิดในที่พักอาศัยนั้นส่วนใหญ่จะมาจาก อัคคีภัย ซึ่งถือเป็นภัยใกล้ตัว แม้คนส่วนใหญ่รับรู้ถึงความร้ายแรงที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้ แต่ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ โดยสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้น คือ ไฟฟ้าลัดวงจร รองลงมา คือ การจุดธูปเทียน ทิ้งไว้ และการอุ่นอาหารทิ้งไว้
สาเหตุของการเกิดอัคคีภัยนั้นอาจมาจากความตั้งใจและความไม่ตั้งใจ เช่น ความประมาท การขาดความระมัดระวัง และมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุจะมาจาก การเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากขาดการบำรุงรักษา ขาดการตรวจสอบ สภาพการใช้งานที่ยาวนานทำให้เกิดสายไฟชำรุด เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด เป็นต้น
6. แนวทางป้องกันเบื้องต้น
มีสติ อยู่ในความไม่ประมาท ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความระมัดระวังใส่ใจมากขึ้น ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน หมั่นตรวจสอบสภาพสายไฟ อุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี นอกจากนี้หากอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ควรหมั่นเข้าฝึกซ้อมการอพยพหนีไฟเป็นประจำทุกปี