ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ไส้เลื่อน (Hernia)  (อ่าน 15 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 508
  • บริการโพสต์ หรือท่านที่ต้องการลงประกาศขายสินค้าผ่านอินเตอร์เนต เหมาะกับท่านที่ไม่มีเวลาลงโฆษณา *บริการโพสต์ ช่วยให้สินค้าท่าน หรือ โฆษณาโปรโมชั่นของท่าน
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ไส้เลื่อน (Hernia)
« เมื่อ: วันที่ 31 ตุลาคม 2024, 14:54:07 น. »
หมอประจำบ้าน: ไส้เลื่อน (Hernia)

ไส้เลื่อน หมายถึง ภาวะที่มีลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวหรือไหลเลื่อนมาตุงที่ผนังหน้าท้อง เห็นเป็นก้อนนูนตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของหน้าท้อง พบบ่อยที่บริเวณสะดือ ขาหนีบ ต้นขาด้านใน รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดช่องท้อง*

โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทุกกลุ่มอายุ สำหรับกลุ่มอายุมากกว่า 45 ปีพบได้ประมาณร้อยละ 4

ไส้เลื่อน แบ่งออกเป็นหลายชนิดตามสาเหตุและตำแหน่งที่พบ อาทิ

    ไส้เลื่อนสะดือ (umbilical hernia) หรือ สะดือจุ่น พบบ่อยในทารก มักมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กร้องไห้จะเห็นสะดือโป่ง ส่วนใหญ่จะหายได้เองก่อนอายุได้ 1-2 ปี ส่วนน้อยจะหายเมื่ออายุได้ 2-5 ปี

ไส้เลื่อนสะดือ ก็อาจพบในผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากมีภาวะที่ทำให้หน้าท้องบริเวณรอบสะดืออ่อนแอและเกิดแรงดันในช่องท้องสูง มักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

    ไส้เลื่อนขาหนีบ (inguinal hernia) นับเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด (ประมาณร้อยละ 70 ของไส้เลื่อนทั้งหมด) พบในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า (พบว่าในชั่วชีวิตของทุกคนมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนประมาณร้อยละ 27 สำหรับผู้ชาย ร้อยละ 3 สำหรับผู้หญิง) จะพบอาการมีก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบ ในผู้ชายบางรายอาจมีลำไส้ไหลเลื่อนลงมาที่ถุงอัณฑะ เรียกว่า "ไส้เลื่อนลงอัณฑะ"

ผู้ป่วยอาจมีหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบอ่อนแอมาตั้งแต่กำเนิด แต่อาการของไส้เลื่อนมักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน บางรายอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากมีภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแอและเกิดแรงดันในช่องท้องสูง

    ไส้เลื่อนต้นขา (femoral hernia) พบที่บริเวณต้นขาด้านใน ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าขาหนีบ พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของไส้เลื่อนทั้งหมด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
    ไส้เลื่อนรอยแผลผ่าตัด (incisional hernia) พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของไส้เลื่อนทั้งหมด เนื่องจากผนังหน้าท้องในบริเวณแผลผ่าตัดมีความอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลเลื่อนเป็นก้อนนูนที่บริเวณนั้น

*นอกจากนี้ยังมีไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นภายในช่องท้อง ที่พบบ่อยได้แก่ ไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia/diaphragmatic hernia) ซึ่งเป็นภาวะที่กระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้

สาเหตุ

เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อนยาน) ผิดปกติ ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้เคลื่อนตัวหรือไหลเลื่อนเข้าไปในบริเวณนั้น ความบกพร่องดังกล่าวอาจมีมาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้นก็ได้

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดไส้เลื่อน ได้แก่

    การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน
    การมีประวัติเป็นไส้เลื่อนในวัยเด็กหรือเคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาก่อน
    การมีประวัติผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
    ผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเสื่อมของผนังหน้าท้อง
    ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังยังไม่เจริญแข็งแรงเต็มที่
    ไอเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอักเสบ หรือถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่
    ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูงจากการเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
    ต่อมลูกหมากโต ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูงจากการเบ่งถ่ายปัสสาวะเป็นประจำ
    การมีบุตรหลายคน เนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรบ่อยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ และมีแรงดันในช่องท้องสูง
    ภาวะอ้วน การยกของหนักเป็นประจำ การมีน้ำในช่องท้อง (เช่น ในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง) และการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง) ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูง

อาการ

ทารกที่สะดือจุ่น จะมีอาการสะดือโป่งชัดเจนเวลาร้องไห้ โดยเด็กสบายดี และไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

ในผู้ใหญ่ หากไส้เลื่อนมีขนาดเล็ก อาจไม่มีอาการชัดเจน เช่น ในผู้หญิงที่เป็นไส้เลื่อนต้นขา มักไม่พบก้อนนูนที่บริเวณต้นขา แต่อาจมีอาการปวดบริเวณต้นขาเป็นครั้งคราวโดยไม่ทราบสาเหตุ จนกว่าก้อนมีขนาดโตขึ้นจึงจะเห็นก้อนนูนได้ชัด

ในรายที่มีไส้เลื่อนขนาดใหญ่ จะมีอาการเป็นก้อนนูนตรงบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน (สะดือ ขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด) สำหรับไส้เลื่อนขาหนีบซึ่งพบมากในผู้ชาย หากมีลำไส้เลื่อนไหลลงมาที่ถุงอัณฑะ จะพบว่ามีก้อนนูนที่ถุงอัณฑะ ทำให้อัณฑะบวมโตกว่าอีกข้างที่ปกติ

ก้อนนูนของไส้เลื่อนมักจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป ก้อนมีลักษณะนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด (นอกจากในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน อาจมีอาการปวดไส้เลื่อนอย่างฉับพลัน หรือปวดท้องรุนแรง)

ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยไว้จนไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะมีลำไส้ไหลเลื่อนลงมาที่ผนังหน้าท้องจำนวนมากขึ้น จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ กล่าวคือ ไส้เลื่อนอาจเกิดการติดค้างอยู่ที่บริเวณผนังหน้าท้อง (เช่น สะดือ ขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด) ไม่สามารถไหลกลับเข้าช่องท้องได้ตามปกติ เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดติดคา (incarcerated hernia) ซึ่งอาจทำให้มีอาการของลำไส้อุดกั้น คือปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อย ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ

ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดค้างอยู่ถูกบีบรัดจนบวมและขาดเลือดไปเลี้ยง ในที่สุดเนื้อเยื่อลำไส้จะตายเน่า (gangrene) เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด (strangulated hernia) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง ก้อนไส้เลื่อนปวดเจ็บมาก และผิวหนังบริเวณนั้นมีสีแดงหรือสีคล้ำ ต่อมาลำไส้ที่ตายเน่าเกิดการทะลุก็จะกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งจะตรวจพบสะดือโป่ง หรือก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด

บางรายแพทย์อาจวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

1. สะดือจุ่นในเด็กเล็ก แนะนำให้สังเกตอาการโดยไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขเมื่อสะดือจุ่นมีอาการปวด, มีอาการปวดท้องและอาเจียนรุนแรง (จากภาวะลำไส้อุดกั้นแทรกซ้อน), สะดือจุ่นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1-2 ซม., เมื่อครบอายุ 2 ปีแล้วสะดือจุ่นขนาดยังไม่เล็กลง หรือเมื่ออายุครบ 5 ปีแล้วยังไม่ยุบหายดี

2. สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไส้เลื่อนสะดือ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการปวดหรือก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น

3. ไส้เลื่อนที่พบบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด ถ้ามีขนาดเล็กและไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการ และนัดมาตรวจเป็นระยะ หากพบว่าก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีอาการปวด หรือผู้ป่วยมีความวิตกกังวล แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน คือ นัดให้มารับการผ่าตัดเมื่อสะดวกและมีความพร้อม

4. ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือก้อนติดคา แพทย์จะทำการผ่าตัดแบบเร่งด่วน

ผลการรักษา สำหรับไส้เลื่อนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน การผ่าตัดช่วยให้หายเป็นปกติได้เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีไส้เลื่อนเกิดขึ้นใหม่ในเวลาต่อมาได้

ในรายที่ปล่อยไว้จนกลายเป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา และเกิดภาวะลำไส้อุดกั้น และ/หรือเป็นไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด ถ้าได้รับการผ่าตัดอย่างทันท่วงทีก็จะปลอดภัยและหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิตได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการก้อนนูนที่บริเวณหน้าท้อง ขาหนีบ หรือต้นขาเป็นครั้งคราวขณะลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไส้เลื่อน ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด สำหรับกรณีต่อไปนี้

    ในรายที่ยังไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัด และแพทย์แนะนำให้สังเกตอาการ หรือรอนัดผ่าตัด หากมีอาการไส้เลื่อนติดค้างอยู่ข้างนอก ไม่ไหลกลับเข้าไปในช่องท้องอย่างที่เคย ก้อนไส้เลื่อนมีอาการปวดเจ็บ หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาเจียนมาก ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
    ในรายที่แพทย์รักษาด้วยการผ่าตัด และกลับมาพักฟื้นที่บ้าน หากมีอาการผิดปกติ (เช่น มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน กินอาหารไม่ได้ แผลอักเสบ เป็นต้น) มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา หรือมีความวิตกกังวล ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

การป้องกัน

ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากผู้ป่วยไส้เลื่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไส้เลื่อนขาหนีบ ไส้เลื่อนสะดือ) มักเกิดจากการมีความอ่อนแอของผนังหน้าท้องมาแต่กำเนิด

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อนและการกำเริบซ้ำของโรคนี้     

    ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    ไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง (ซึ่งทำให้มีอาการไอเรื้อรัง)
    ป้องกันท้องผูกด้วยการกินอาหารที่มีกากใยมาก และดื่มน้ำมาก ๆ
    หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
    หากมีอาการไอเรื้อรัง ท้องผูก ต่อมลูกหมากโต ควรรีบดูแลรักษาให้อาการทุเลาลง

ข้อแนะนำ

1. ควรอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจถึงสาเหตุและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นของโรคไส้เลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ซึ่งพบว่าบางคนรู้สึกว่าการมีก้อนนูนที่ขาหนีบเป็นสิ่งที่น่าละอาย และไม่กล้าไปพบแพทย์

2. การรักษาไส้เลื่อนให้หายขาดมีอยู่ทางเดียวคือการผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องให้แข็งแรง ซึ่งแพทย์จะนัดทำในเวลาที่เหมาะสม ระหว่างที่รอนัดมาผ่าตัด (ซึ่งอาจนานเป็นแรมปี) ผู้ป่วยควรสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วยตัวเอง ถ้าหากมีอาการปวดท้อง อาเจียน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

3. ในปัจจุบันการผ่าตัดมีหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (open surgery) ซึ่งทำกันมาแต่เดิมแล้ว ยังมีวิธีใหม่ ๆ อาทิ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (laparoscopic surgery) และการใช้แขนกลช่วยผ่าตัดด้วยระบบดาวินชี (robotic-assisted da Vinci surgical system) ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีใหม่ ๆ ให้ผลดีกับผู้ป่วยหลายประการ เช่น รอยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมากและเจ็บแผลน้อย เสียเลือดน้อย เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย อยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน และฟื้นตัวได้เร็ว