ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia/BPH)  (อ่าน 8 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 491
  • บริการโพสต์ หรือท่านที่ต้องการลงประกาศขายสินค้าผ่านอินเตอร์เนต เหมาะกับท่านที่ไม่มีเวลาลงโฆษณา *บริการโพสต์ ช่วยให้สินค้าท่าน หรือ โฆษณาโปรโมชั่นของท่าน
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia/BPH)
« เมื่อ: วันที่ 6 พฤศจิกายน 2024, 10:12:24 น. »
หมอประจำบ้าน: ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia/BPH)

ผู้ชายเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมาก* จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนโต แล้วจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ เมื่อโตมากจะเกิดแรงกดต่อท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ซึ่งมักจะเริ่มแสดงอาการเมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป และจะพบอาการผิดปกติได้มากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น

พบว่าผู้ชายอายุ 60 ปี จะมีอาการแสดงของโรคนี้ประมาณร้อยละ 30 และอายุมากกว่า 80 ปีจะมีอาการแสดงของโรคนี้ประมาณร้อยละ 50 บางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้

ผู้ที่มีบิดาหรือพี่น้องเป็นต่อมลูกหมากโต ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะอ้วน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนปกติทั่วไป

ส่วนการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ลง

* ต่อมลูกหมาก (prostate gland) เป็นต่อมของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้ชาย อยู่ตรงด้านหลังของคอกระเพาะปัสสาวะในอุ้งเชิงกรานหลังกระดูกหัวหน่าว ต่อมมี 5 กลีบ หนักประมาณ 20 กรัม มีหน้าที่สร้างน้ำเมือก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำกาม) ให้ตัวอสุจิแหวกว่ายและกินเป็นอาหาร

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า ไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุดและปัสสาวะบ่อย ห่างกันไม่ถึง 1-2 ชั่วโมง มีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที อาจถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ถ่าย ๆ หยุด ๆ หลายครั้ง ปัสสาวะออกเป็นหยด ๆ ในช่วงท้ายของการถ่าย หลังเข้านอนตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อย

อาการมักค่อย ๆ เป็นมากและดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาเป็นแรมปี จนกระทั่งต่อมลูกหมากโตมากและกดท่อปัสสาวะอย่างรุนแรงก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ปวดตึงท้องน้อย และคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งเต็ม บางครั้งอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันอาจเกิดหลังจากใช้ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก เช่น แอนติสปาสโมดิก ยาแก้แพ้ ยาทางจิตประสาท เป็นต้น และยากลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก (sympathomimetic) เช่น อะดรีนาลิน สูโดเอฟีดรีน เป็นต้น หรืออาจเกิดหลังดื่มแอลกอฮอล์ วางยาสลบ หรือนอนอยู่นาน ๆ (ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย)

บางรายอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด เนื่องจากการเบ่งถ่ายนาน ๆ อาจทำให้หลอดเลือดดำที่ท่อปัสสาวะคั่ง แล้วแตกมีเลือดออกได้


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดการติดเชื้อง่าย (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) ไตวาย

อาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะล้า ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง หรือเกิดนิ่วกระเพาะปัสสาวะ

ในรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะนาน อาจทำให้ท่อไตและไตบวม


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

การใช้นิ้วมือตรวจทางทวารหนัก (โดยการใส่ถุงมือและมีสารหล่อลื่น) อาจคลำได้ต่อมลูกหมากที่โตกว่าปกติ

ในรายที่มีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก อาจคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งเต็ม

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous urography) การตรวจอัลตราชาวนด์ การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ cystoscopy เป็นต้น นอกจากนี้อาจทำการตรวจปัสสาวะ (ดูการติดเชื้อหรือเลือดออก) ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด (ดูภาวะไตวาย) ตรวจสารพีเอสเอในเลือด (PSA)*

ในรายที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (เช่น ตรวจพบระดับพีเอสเอในเลือดสูงผิดปกติ) แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก

บางรายแพทย์อาจทำการทดสอบความแรงและปริมาณของการถ่ายปัสสาวะ (urinary flow test) และการวัดปริมาณปัสสาวะที่ค้างหลังถ่ายปัสสาวะ (postvoid residual volume test) เพื่อติดตามประมาณความรุนแรงของโรค

* พีเอสเอ (Prostate specific antigen/PSA) เป็นสารที่สร้างโดยเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก ระดับพีเอสเอในเลือดมีค่าปกติต่ำกว่า 4 นาโนกรัม/มล. ถ้ามีค่าสูงกว่าปกติ แสดงว่าอาจมีพยาธิสภาพของต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ มะเร็งต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัด เป็นต้น

ถ้ามีค่าระหว่าง 4-10 นาโนกรัม/มล. อาจเป็นมะเร็งหรือไม่ใช่มะเร็งก็ได้

ถ้ามากกว่า 10 นาโนกรัม/มล. มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่มะเร็งมักจะมีค่าต่ำกว่า 20 นาโนกรัม/มล.

ถ้ามีค่ามากกว่า 100 นาโนกรัม/มล. มักจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดแพร่กระจาย

ถ้ามีค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นปีละ 0.8 นาโนกรัม/มล. หรือมากกว่า อาจบ่งชี้ว่ากำลังมีมะเร็งเกิดขึ้น

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากบางรายก็อาจมีค่าพีเอสเออยู่ในระดับปกติก็ได้


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่เป็นระยะแรกเริ่ม มีอาการเล็กน้อย ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ เฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะ

2. ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือเป็นมาก แต่อยู่ระหว่างรอผ่าตัดหรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้

    ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา (alpha-blockers) เช่น พราโซซิน (prazosin) เทราโซซิน (terazosin) 2-10 มก. หรือดอกซาโซซิน (doxazosin) เป็นต้น ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
    ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟารีดักเทส (alphareductase inhibitors) เช่น ไฟนาสเตอไรด์ (finasteride) ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เทสโทสเทอโรนเปลี่ยนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต) ก็จะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงได้ประมาณร้อยละ 30 ยานี้มีข้อดีทำให้ผมดกขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีผมบางหรือศีรษะล้านร่วมด้วย

3. ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือดบ่อย ๆ เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะบ่อย ๆ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งมีอยู่หลายวิธี ในปัจจุบันนิยมวิธีผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (transurethal resection of the prostate/TURP) แต่ถ้าต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก ก็อาจต้องทำการผ่าตัดโดยการเปิดเข้าหน้าท้อง (suprapubic หรือ retropubic prostectomy) วิธีนี้อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมากกว่าการผ่าตัดโดยการใช้กล้อง

ผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจเลือกรักษาด้วยวิธีอื่นที่ง่ายและเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัด เช่น

    การขยายท่อปัสสาวะโดยการใส่ท่อคาไว้ (prostatic urethral stent) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้หรือปฏิเสธการผ่าตัด
    การจี้ต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์ (transurethral laser incision of prostate/TULIP) หรือด้วยไฟฟ้า (transurethral electrovaporization of prostate)
    การใช้คลื่นไมโครเวฟ (microwave thermotherapy) หรือคลื่นอัลตราซาวนด์ (high frequency focus ultrasound thermotherapy) หรือคลื่นวิทยุ (radiofrequency vaporization) ทำให้เกิดความร้อนบริเวณต่อมลูกหมากจนเนื้อเยื่อตาย ต่อมลูกหมากก็จะฝ่อลง ทำให้ปัสสาวะได้คล่องขึ้น

หากวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

4. ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ใช้สายสวนปัสสาวะในรายที่ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุดและปัสสาวะบ่อย มีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นต่อมลูกหมากโต ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากยาหลายชนิด (เช่น ยาแก้แพ้แก้หวัด ยาแก้ปวดท้อง กลุ่มแอนติสปาสโมดิก) อาจทำให้ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออกได้
    ลดการดื่มน้ำก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดปริมาณปัสสาวะ ไม่ต้องตื่นขึ้นมาถ่ายปัสสาวะตอนกลางดึก
    หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารเหล่านี้กระตุ้นให้มีปัสสาวะออกมาก ทำให้อาการเป็นมากขึ้น
    ลดน้ำหนักถ้าอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารการกิน
    ถ่ายปัสสาวะทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกปวดถ่าย อย่าอั้นปัสสาวะ อาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยืดตัวมากเกิน ทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานได้
    หลังถ่ายปัสสาวะสุดในครั้งแรกแล้ว รอสักครู่เดียวให้ถ่ายอีกครั้ง เพื่อลดปริมาณปัสสาวะที่คั่งค้าง
    หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย (การนั่งหรือนอนนาน ๆ อาจทำให้ปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากเกิน)
    รักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีอากาศเย็น เพราะมีผลให้มีปัสสาวะคั่งมากเกิน


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
    มีอาการไข้ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่นหรือเป็นเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

โรคนี้เกิดมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

    ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    กินผักและผลไม้ให้มาก และลดการกินอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาล
    ออกกำลังกายเป็นประจำ

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง และมีทางรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าปล่อยไว้ อาจมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรงได้

2. อาการถ่ายปัสสาวะลำบากในผู้ชายสูงอายุ อาจมีสาเหตุจากโรคมะเร็งของต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะก็ได้ ซึ่งบางครั้งอาจแยกอาการจากต่อมลูกหมากโตไม่ออก ดังนั้นทางที่ดีควรแนะนำให้ผู้ชายสูงอายุที่มีอาการปัสสาวะลำบากไปตรวจที่โรงพยาบาลทุกราย