หมอออนไลน์: โรคขาดวิตามินเอ/เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (Vitamin A deficiency)โรคขาดวิตามินเอ ยังพบได้ในท้องที่ชนบทบางแห่ง (พบบ่อยทางภาคอีสาน) และในเด็กที่ยากจน
ภาวะขาดวิตามินเอ ทำให้ประสาทตาส่วนที่เรียกว่าจอตา หรือเรตินา (retina) เสื่อม ทำให้เยื่อบุตาแห้งและต่อมน้ำตาไม่ทำงาน จึงอาจทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้ตาบอดได้ ดังที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่าเป็น โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา
สาเหตุ
มักจะพบในเด็กวัยแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินเอน้อยไป เช่น กินแต่นมข้นหวาน กล้วยบดและข้าว โดยไม่ได้อาหารเสริมอื่น ๆ โรคนี้มักจะพบร่วมกันไปกับโรคขาดอาหาร บางรายอาจเป็นหลังจากเป็นโรคติดเชื้อ (เช่น หัด ปอดอักเสบ) หรือท้องเดินเรื้อรัง
ในผู้ใหญ่พบได้น้อย ถ้าพบมักมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น มีผลทำให้การดูดซึมวิตามินเอน้อยลง
อาการ
เริ่มแรกจะมีอาการตาฟางหรือมองไม่เห็นเฉพาะตอนกลางคืนหรือในที่มืด ๆ (แต่มองเห็นเป็นปกติในเวลากลางวัน และในที่สว่าง ๆ) เนื่องจากจอตาเริ่มเสื่อม ต่อมาเยื่อตาขาวแห้ง เมื่อเป็นมากขึ้นเยื่อตาขาวจะย่นอยู่รอบ ๆ กระจกตาดำดูคล้ายเกล็ดปลา และกระจกตาดำซึ่งปกติสะท้อนแสงวาววับ จะแห้งและไม่มีประกาย ตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีเงิน เห็นเป็นจุดใหญ่ทางด้านหางตา เรียกว่า จุดบิทอตส์ (Bitot’s spot) หรือเกล็ดกระดี่ อาจเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง ถ้ารักษาในระยะนี้จะแก้ได้ทัน
ในเด็กเล็กมักตรวจพบเมื่อมีการอ่อนตัวของกระจกตาดำแล้ว จะพบหนังตาบวม ปิดตาแน่น ไม่ยอมลืมตา
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยทิ้งไว้กระจกตาจะเกิดการอ่อนตัว เป็นแผล และเกิดรูทะลุ มีเชื้อโรคเข้าไปในลูกตา ทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตา ตาบอดได้ นอกจากนี้ เด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอหากเป็นหัด อาจกลายเป็นโรคหัดชนิดรุนแรงได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
เยื่อตาขาวรอบ ๆ กระจกตาดำเป็นรอยย่น กระจกตาดำขุ่นมัวไม่สะท้อนแสงและเกล็ดกระดี่ตรงด้านหางตา
ถ้าจำเป็น แพทย์จะทำการตรวจระดับวิตามินเอในเลือด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. เมื่อเริ่มมีอาการตาบอดกลางคืน หรือเริ่มมีเกล็ดกระดี่ขึ้นตา แพทย์จะให้กินวิตามินเอชนิดแคปซูล หรือหากจำเป็นอาจใช้วิตามินเอชนิดฉีด
2. ถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้กินวิตามินเอชนิดแคปซูล หรือฉีดวิตามินเอ ร่วมกับให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ถ้าเด็กปิดตาแน่น อย่าพยายามเปิดตาเด็ก เพราะอาจทำให้กระจกตาดำแตกทะลุได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการตาฟางหรือมองไม่เห็นเฉพาะตอนกลางคืนหรือในที่มืด ๆ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคขาดวิตามินเอ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยาหรือยาหาย
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
โรคนี้เป็นแล้วทำให้ตาบอดได้ แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น เนื้อ ตับ ไข่ นม ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอสุก ผักใบเขียว (ผักบุ้ง ใบตำลึง ใบมันสำปะหลัง) พริกที่เผ็ด ๆ จึงควรแนะนำให้เด็ก ๆ กินอาหารเหล่านี้ให้มากเป็นประจำ
ถ้าไม่แน่ใจว่าเด็กจะได้รับอาหารที่มีวิตามินเอเพียงพอ อาจให้กินวิตามินเอเสริม
ข้อแนะนำ
เด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วิตามินเอเสริม ซึ่งจะช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้ (ดู "โรคหัด" เพิ่มเติม)