แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศยุติภาวะฉุกเฉินของ Covid-19 แล้ว แต่ทุกประเทศยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกัน ล่าสุด (15 พฤษภาคม 2566) กรมควบคุมโรค เผยว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ควรผ่อนมาตรการป้องกันโรค โดยเฉพาะในช่วงที่โรงเรียนมีการเปิดภาคเรียน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า หลังช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 39 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2,356 ราย เฉลี่ยวันละ 336 คนต่อวัน ขณะที่พบผู้ป่วยอาการหนักแพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์
รวมถึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ที่เหลือเป็นผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 ลดลงมาก ได้แก่ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุด หรือติดเชื้อแล้วนานเกิน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมี ยา เวชภัณฑ์สำรอง และเตียงเพียงพอสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง
หากใครพบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK หากมีผลบวก 2 ขีด ให้เลี่ยงการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 สวมหน้ากากอนามัย และสังเกตอาการ เมื่อมีอาการมากให้ไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ไปรับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น
ทั้งนี้ ในช่วงเปิดภาคเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครองและครูสังเกตอาการ คัดกรองเด็กที่ป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หากมีอาการดังกล่าว ควรให้ลูกหลานหยุดอยู่บ้านเพื่อรักษาให้หายก่อน และลดโอกาสแพร่เชื้อในโรงเรียน
ท้ายที่สุด กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักจากทั้งสองโรค และเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง เว้นระยะห่างจากเข็มสุดท้ายหรือหลังการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
โควิด 19 ยังขาขึ้น กรมควบคุมโรคเตือน ไม่ลดมาตรการป้องกัน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19