หลายต่อหลายครั้ง เราอาจจะได้ยินคนพูดว่า “กินหวานขนาดนี้ เดี๋ยวก็เป็นเบาหวานหรอก” ซึ่งถ้าจะพูดว่า โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากการทานหวาน ก็อาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะว่าแค่การทานหวานเพียงอย่างเดียว ไม่อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานได้ อีกทั้งการเป็นโรคเบาหวาน อาจจะไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้ด้วย
หลายคนอาจกำลังคิดว่า ฉันไม่ชอบทานอาหารหวาน โรคเบาหวานนี่ฟังดูอย่างไรก็ไกลตัว แต่ความจริงแล้ว จากสถิติพบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 4.8 ล้านคน เลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นจำนวนผู้ป่วยที่ค่อนข้างสูงมาก พอเห็นจำนวนผู้ป่วยมากขนาดนี้ โรคนี้จึงเริ่มฟังดูใกล้ตัวเรามากขึ้นขึ้นมาทันที เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว วันนี้ ทางคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ อยากจะมาแบ่งปันความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพื่อให้คนในชุมชน ได้รู้จักตัวโรค วิธีป้องกัน ตลอดจนวิธีรับมือกับเจ้าโรคนี้ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที
โรคเบาหวานคืออะไร?
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายต่อฮอร์โมนที่ชื่อว่า “อินซูลิน” แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่
การหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนลดลง
ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
โดยความบกพร่องดังกล่าวนี้ มีผลให้การดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ร่างกายลดลง จนมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสะสมเป็นปริมาณมาก และเป็นผลให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลง และเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ตามองไม่ชัด เท้าเป็นแผล ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจอันตรายถึงขั้นต้องทำการตัดอวัยวะ เป็นต้น
ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานคือใครบ้าง?
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
ผู้ที่มีมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 หรือมีรอบเอวมากกว่ามาตรฐาน โดยผู้ชายรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม. ผู้หญิงรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม.)
ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง
สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
ผู้ที่มีพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่
โรคเบาหวานมีอาการอย่างไร?
ความอันตรายของโรคนี้ก็คือ ในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดง ทำให้ไม่ได้เข้ามาพบแพทย์และส่งผลให้เสียโอกาสในการรักษาในตอนต้นไป จึงเป็นเหตุให้เราควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือตั้งตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมาได้สักระยะหนึ่งแล้วมักจะมีอาการแสดงดังต่อไปนี้
รู้สึกกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
รับประทานอาหารมากขึ้นแต่กลับน้ำหนักลด
มีปัญหาด้านการมองเห็น ได้แก่ ตาพร่าลาย เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
มีแผลเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ
โรคเบาหวานสามารถรักษาหายได้อย่างไร
แม้ว่าเบาหวานจะเป็นโรคเรื้อรังและยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในปัจจุบัน แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้ด้วยการ:
รักษาแบบใช้ยา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยารับประทานและยาฉีด ซึ่งแต่ละแบบมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยยารักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันมีผลข้างเคียงน้อยและสะดวกในการใช้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะสม
รักษาแบบไม่ใช้ยา คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุมอาหาร และออกกำลังกาย เช่น
รับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ ทำให้ดูดซึมน้ำตาลช้า อิ่มนาน เช่น ผักใบเขียว ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วยน้ำว้า ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ วุ้นเส้น เป็นต้น
รับประทานน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
โดยการรักษาทั้งการใช้ยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กล่าวมานั้น ช่วยเพียงควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตและไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ของคนปกติมากที่สุด รวมถึงเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีเพื่อเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเป็นระยะ ๆ
วันนี้เราก็ได้รู้จักกับสาเหตุ อาการ วิธีดูแลตัวเองเพื่ออยู่กับโรคเบาหวานกันไปแบบคร่าว ๆ กันแล้ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่คนทานหวาน แต่ก็ควรที่จะสังเกตอาการของตนเองและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนป้องกันหรือรักษาสุขภาพในระยะยาวได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ทำความรู้จักโรค “โรคเบาหวาน” ซึ่งไม่หวานแถมถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/278